ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร
ออฟฟิศซินโดรมคือ โรคที่มักพบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ที่มีพฤติกรรมการทำงานไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าทางการนั่งทำงาน การใช้กล้ามเนื้อบางส่วนอย่างหนักและเป็นเวลานานรวมไปจนถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ เช่น ลักษณะโต๊ะทำงานเก้าอี้ที่ใช้ในการนั่งทำงาน แสงสว่าง เป็นต้น
ตัวอย่างอาการของออฟฟิศซินโดรม
- ปวดตึง หรือเมื่อยล้ากล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น บริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง สะบัก
- อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย
- ปวดร้าวขึ้นศีรษะตาพร่ามัว หูอื้อ
- อาการที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับเช่น มือชา นิ้วชา แขนชา
เคล็ดลับการดูแล
- ปรับสภาพแวดล้อมปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ เลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย
- ไม่ควรนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานควรพักอย่างน้อยทุก 30-60 นาที บริหารร่างกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อยึดเกร็ง
- ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสมรรถภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
- หากอาการเป็นเรื้อรังหรือมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อเข้ารับการตรวจประเมิน รักษา หรือทำกายภาพบำบัดรวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี
แม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงแต่หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและความสุขในการทำงานได้ดังนั้นควรที่จะรีบแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ